ข้อมูลทั่วไปของจังหวัด

จังหวัดสมุทรปราการ มีข้อมูล และรายละเอียด ต่าง ๆ ดังนี้
Introduction

ขนาดเขต ที่ตั้งและประวัติพอสังเขปฯ

“สมุทรปราการ” เป็นเมืองที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เนื่องจากที่ตั้งเป็นเขตยุทธศาสตร์ทางน้ำ  คำว่า “สมุทรปราการ” มาจาก คำว่า “สมุทร” ซึ่งแปลว่าทะเล และ “ปราการ” ที่แปลว่า กำแพง จึงมีความหมายโดยรวมว่า “กำแพงริมน้ำ” และหากย้อนหลังไป 800 ปีเศษ ชนชาติขอมซึ่งมีความรุ่งเรืองอยู่ ในขณะนั้นได้สร้างเมืองพระประแดงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านซึ่งสันนิษฐานว่า  ในปัจจุบันคือบริเวณท่าเรือคลองเตย และต่อมาแผ่นดินบริเวณรอบเมืองพระประแดงนั้นได้งอกออกไปในทะเลโดยทิศใต้แผ่นดินงอกถึงแถบตำบลปากคลองบางปลากดซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา และทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาแผ่นดินได้งอกถึงบริเวณตำบลบางด้วน บางหมู และบางนางเกรง ทำให้เมืองพระประแดงมีความสำคัญลดลง เนื่องจากอยู่ห่างจากบริเวณปากแม่น้ำ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2163 – 2171 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้โปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นใหม่ เพื่อเป็นเมืองปากน้ำหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา และใช้เป็นสถานที่ทำการค้าขายกับชาวฮอลันดาโดยทรงพระราชทานที่ดินบริเวณคลองบางปลากด ให้ชาวฮอลันดาไว้เป็นเมืองการค้าซึ่งเรียกว่า “นิวอัมสเตอร์ดัม”

ในปี พ.ศ. 2306 สมัยกรุงธนบุรี เป็นสมัยที่สร้างราชธานีใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงเมืองพระประแดงเดิมที่ตำบลราษฎร์บูรณะ เพื่อไปสร้างกำแพงพระราชวังจึงทำให้กำแพงเมืองพระประแดงเดิมสูญหายสิ้นซากนับแต่นั้นมา

ในปี พ.ศ. 2352 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นความสำคัญที่จะต้องสร้างเมืองทางชายฝั่ง เพื่อป้องกันศัตรูที่จะรุกล้ำมาจากทางทะเลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมมีเมืองพระประแดงและเมืองสมุทรปราการเป็นเมืองหน้าด่าน แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก พระองค์จึงดำริที่จะบูรณะเมืองพระประแดง ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเมืองสมุทรปราการและกรุงเทพฯโดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ลงสำรวจพื้นที่บริเวณปากน้ำเจ้าพระยา เพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่และสร้าง “ป้อมวิทยาคม” ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 รัฐบาลไทยได้อนุมัติสัมปทานแก่บริษัทชาวเดนมาร์ก เพื่อสร้างทางรถไฟสายแรกขึ้นในประเทศไทย ระหว่าง กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ แต่บริษัทยังขาดทุนทรัพย์ จึงมิได้ดำเนินการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยืมทุนทรัพย์ไปสมทบด้วยส่วนหนึ่ง และได้เสด็จพระราชดำเนินแซะดินเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 16
กรกฎาคม พ.ศ. 2434 กับได้เปิดทางรถไฟ ณ สถานีสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2436 โดยใช้รถจักรไอน้ำลากจูง แต่ต่อมาภายหลังเปลี่ยนใช้รถไฟฟ้า ทางรถไฟสายนี้ได้ยุบเลิกกิจการไป เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2503
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์กลับเป็น “เมืองพระประแดง” ดังเดิม เพราะยังคงบริเวณเดิมของพระประแดง และในปี พ.ศ. 2459 ทรงเปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด เมืองสมุทรปราการจึงเปลี่ยนเป็น “จังหวัดสมุทรปราการ” ประกอบด้วยอำเภอสมุทรปราการ อำเภอบ่อ อำเภอบางพลี และอำเภอสีชัง และเมืองพระประแดงเป็น จังหวัดพระประแดง ประกอบด้วยอำเภอพระประแดง อำเภอพระโขนง และอำเภอราษฎร์บูรณะ
ปี พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัฐบาลต้องประหยัดการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน จึงโปรดฯ ให้ยุบจังหวัดพระประแดงขึ้นกับจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอพระโขนงขึ้นกับจังหวัดพระนคร และอำเภอราษฎร์บูรณะขึ้นกับจังหวัดธนบุรี
ในปี พ.ศ. 2485 ได้มีพระราชบัญญัติรวมจังหวัดพระนคร ธนบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรีเข้าไว้ด้วยกัน รวมเรียกว่า นครบาล กรุงเทพฯ ธนบุรี และในปี พ.ศ.2486 มีการปรับปรุงระเบียบการปกครองใหม่ ยุบจังหวัดสมุทรปราการขึ้นกับจังหวัดพระนคร และในปี พ.ศ. 2489 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

ตราประจำจังหวัดสมุทรปราการ เป็นรูปพระสมุทรเจดีย์และพระอุโบสถที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร

พระเจดีย์  หมายถึง พระสมุทรเจดีย์ที่สร้างอยู่กลางแม่น้ำ ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระไตรปิฎก

พระอุโบสถ  หมายถึง พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร

ชื่อพันธุ์ไม้  โพทะเล

ลักษณะทั่วไปและถิ่นกำเนิด

ต้นโพทะเลเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 1015 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู ขรุขระ ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบรูปหัวใจ ดอกสีเหลืองขนาดใหญ่ ออกตามง่ามใบ ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลโตขนาด ซ.ม. มีถิ่นกำเนิดบริเวณป่าชายเลนทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้

ดอกไม้ประจำจังหวัด   ดอกดาวเรือง