ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทำนบดินบ่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่วพังทลาย พร้อมเร่งหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทำนบดินบ่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่วพังทลาย พร้อมเร่งหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทำนบดินบ่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่วพังทลาย พร้อมเร่งหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

     วันที่ 17 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นายศุภมิตร ชิณศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทำนบดินบ่อก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่วพังทลาย ทำให้น้ำเค็มรุกล้ำคลองประเวศน์บุรีรมย์จนส่งกระทบต่อประชาชาชนและเกษตรกรในจังหวัดสมุทรปราการ ณ ศาลาเอนกประสงค์ วัดบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งร่วมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบของประชาชน
      เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เวลา 19.30 น. เกิดเหตุทำนบดินบ่อก่อสร้างของงานจ้างเหมาก่อสร้างสถานีสูบน้ำท่าถั่ว ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นสัญญาจ้างดำเนินการของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 11 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง พังทลาย ทำให้น้ำในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีค่าความเค็มมากกว่า 25 กรัมต่อลิตร ไหลเข้าสู่คลองประเวศน์บุรีรมย์ และไหลผ่านคลองสาขาเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้น้ำมีค่าความเค็มสูงส่งผลกระทบ สัตว์น้ำในลำคลองตายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรไม่สามารถนำน้ำมาใช้เลี้ยงปลา และใช้ในการเกษตรได้ ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะพื้นที่อำเภอบางเสาธง บางบ่อและบางพลี
     ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ กำนัน ผู้ใหญ่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับกระทบ ในส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มที่ไหลเข้าตามลำคลองในพื้นที่ ได้ประสานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อมาสูบระบายน้ำร่วมกับทางกรมชลประทาน รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดักน้ำให้สามารถสูบระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น และประสานกับกรมชลประทานให้เร่งปล่อยน้ำเข้าพื้นที่เพื่อมาเจือจางให้ค่าความเค็มของน้ำในลำคลองต่างๆ ลดลงจนสามารถนำไปใช้ในการเกษตรได้
      ในส่วนของประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากน้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่ ให้แจ้งได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งพร้อมจะช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรปราการ