ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสมุทรปราการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2565

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสมุทรปราการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2565

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสมุทรปราการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2565

วันที่ 28 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดสมุทรปราการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายประทีป นทีทวีวัฒน์ ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ นายภูธนะ ชมภูมิ่ง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ เข้าร่วมการประชุมโดยพร้อมเพรียง
ที่ประชุมได้รับทราบกรณีหัวหน้าส่วนราชการที่ย้ายมาดำรงตำแหน่ง ดังนี้
1. นายเจนเจตน์ เจนนาวิน ตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
2. นายประทีป นทีทวีวัฒน์ ตำแหน่ง ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ
3. นางสุมลฑา เจริญศิลป์ ตำแหน่ง วัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ
4. นายมนตรี เรืองพันธ์ ตำแหน่ง เกษตรจังหวัดสมุทรปราการ
ที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบสถานการณ์ และมาตรการ โรคระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ / สถานการณ์ความมั่นคงจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมกราคม 2565/ ผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของจังหวัดประจำเดือนมกราคม 2565 / ผลการดำเนินงานป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมกราคม 2565 / สาธารณภัยของจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมกราคม 2565 / การดำเนินการตามนโยบายบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมกราคม 2565 และผลการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผักตบชวาของจังหวัดสมุทรปราการ ประจำเดือนมกราคม 2565 การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ประจำปี 2565
ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการได้มีข้อเน้นย้ำ ข้อสั่งการในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การป้องกันการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่มีอัตราการแพร่เชื้อกระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เพื่อเป็นการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด – 19 จึงขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1) รณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค DMHTTA
2) ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค
3) การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19
2. การแก้ปัญหาค่าครองชีพ
เนื่องจากการปรับราคาสินค้าอุปโภค บริโภคในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ปัญหาด้านค่าครองชีพครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไขและบรรเทาปัญหาค่าครองชีพครัวเรือน จึงขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันบูรณาการการดำเนินการ ดังนี้
1) ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจัดตลาดนัด ตลาดชุมชน ร้านธงฟ้า จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัด
2) ให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจสินค้า ไม่ให้มีการจำหน่ายเกินราคา กักตุน และปฏิเสธการจำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ
3) ให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการในการดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในการประกอบอาชีพ เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพืชสมุนไพร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เป็นต้น
3. การแก้ปัญหาเนื้อหมูแพงและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)
ด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ผลผลิตสุกรในประเทศลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภค เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการ หรือผู้ค้าเนื้อสุกรในการกักตุนเนื้อสุกร นำเนื้อสุกรออกจำหน่ายในราคาสูง จึงขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1) สำรวจข้อมูลฟาร์มสุกร/จำนวนสุกร/ผู้เลี้ยงสุกร ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรค ASF ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเตรียมมาตรการเยียวยาตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง
2) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เฝ้าระวัง ควบคุม กำกับ การเคลื่อนย้ายสุกรและซากให้เป็นไปตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด
3) มอบหมายสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตรวจตราป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามพรบ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 อย่างเคร่งครัด อีกทั้ง กำกับดูแลร้านจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ ให้ติดป้ายราคาสินค้าอย่างชัดเจน
4) ให้อำเภอกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบสุกรป่วยหรือตายผิดปกติให้แจ้งอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที
5) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและช่วยเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุให้ทราบผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด
4. การป้องกันอันตรายจากอัคคีภัย และยกระดับมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2565
เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงวันตรุษจีน จึงขอเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการด้านเตรียมความพร้อม ดังนี้
1) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบ และปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยให้เป็นปัจจุบัน ซักซ้อมการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำชับให้เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เข้มงวดตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร หากพบมีสภาพไม่มั่นคง แข็งแรง ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าซ่อมแซม และเตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง
2) จัดชุดเจ้าหน้าที่ และใช้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) บูรณาการกำลังร่วมกับหน่วยราชการ ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเชิญชวนประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังสถานที่ และกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เช่น การจุดประทัด ดอกไม้เพลิง รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติภัยอื่น ๆ ได้โดยง่าย และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง ประจำในพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงภัยเพื่อเฝ้าระวังเหตุ โดยต้องพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที
3) สำหรับพื้นที่ที่มีการจัดงานวันตรุษจีน และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้จัดระเบียบการจราจร และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น และหากเกิดอัคคีภัย อุบัติภัยหรือสาธารณภัยอื่นที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด
4) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่/สถานที่ที่มีความเสี่ยงในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในสถานที่ ได้แก่ ร้านอาหาร ตลาด ศาลเจ้า หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มเครือญาติ โดยยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีนตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ในช่วงวันที่ 28 มกราคม 2565 – 3 กุมภาพันธ์ 2565 และรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค DMHTTA อย่างเคร่งครัด